“Circular Economy” หรือ แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังเป็นที่สนใจของหลายประเทศทั่วโลกที่นำนวัตกรรมมาแปรสภาพขยะพลาสติกที่ถูกทิ้ง มาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน
อย่างเช่น ญี่ปุ่นบังคับใช้กฎหมายการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ ทำให้โลหะ 98% ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ได้รับการรีไซเคิล ส่วนสหภาพยุโรป มีการใช้แผนเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้วโดยเฉพาะด้านพลาสติก และมีเป้าหมายการมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ซ้ำให้ได้ทั้งหมดในปี 2030
สำหรับประเทศไทยหลายองค์กรในภาคธุรกิจมีความตื่นตัวเรื่องแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ได้เข้าไปแก้ปัญหาขยะอย่างต่อเนื่อง ทั้งเลิกผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และยังให้ความรู้คนไทยใช้พลาสติกซ้ำ นอกจากนี้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ มูลนิธิอีโคอัลฟ์ จัดการขยะในท้องทะเลแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่น ล่าสุด GC ร่วมกับ บ.แอพลา กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชั้นนำของโลกจัดตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง โดยใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 2562 ตั้งเป้ารีไซเคิลพลาสติกปีละ 5 หมื่นตัน เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้ยังเปิดเวทีในงาน Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนมาแชร์ประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ “ไอรีน เดซ รูซ” ผู้จัดการทั่วไปมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ประเทศสเปน ผู้สร้างแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องประดับที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลและก่อตั้งโครงการ “Upcycling The Oceans” ที่เก็บขยะในทะเลมาแปรรูปเส้นใยสิ่งทอ “อาเธอร์ หวง” ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท Miniwiz จากไต้หวันนำแผ่น CD รีไซเคิลเป็นบ้าน รวมถึงผลิตเครื่องบินจากขยะพลาสติกและเครื่องอัดขยะแบบพกพา “คริสเตียน ลารา” จากประเทศชิลี ผู้ก่อตั้งและซีอีโอที่พัฒนาแอพพลิเคชั่น Reciclapp แอพเรียกรถอูเบอร์ให้ไปจัดเก็บขยะรีไซเคิลถึงที่แล้วนำไปขายต่อ
“แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” หากได้รับการขับเคลื่อนจากภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจังก็จะทำให้เกิดการลดต้นทุนด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน