นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.71% ขณะที่ อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 58.41% เนื่องจากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทะลักเข้ามาในประเทศไทย
สำหรับภาพรวมดัชนีเอ็มพีไอ ไตรมาส 2 เฉลี่ยอยู่ที่ 94.74 หดตัว 0.27% แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัว 3.58% อัตราการใช้กำลังการผลิต 57.79% ขณะที่ภาพรวม 6 เดือนแรกปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 97.83 หดตัว 2.01% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 59.11% สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรม ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง
“สศอ.ส่งสัญญาณเฝ้าระวังปัจจัยภายในประเทศทั้งหมด ทั้งจากความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซา ส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวในระยะนี้”
ดังน้ัน ผู้ประกอบการไทย ควรเตรียมความพร้อมขยายการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯทดแทนตลาดของประเทศจีน หลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะอุปกรณ์ เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันหากประเทศไทยถูกเลือก ให้ เป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของจีน จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศไทยต้องปรับสมดุล การนำเข้าสินค้าไม่ให้นำเข้าจากจีน มากจนเกินไป โดยปรับเพิ่มภาษีนำเข้า หากสินค้าที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ