Champ Engineering โครงการต่อยอดสร้างคนคุณภาพ จากรุ่นพี่ สู่รุ่นน้อง ของสมาคมศิษย์เก่าวิศวะจุฬาฯ

Champ Engineering โครงการต่อยอดสร้างคนคุณภาพ จากรุ่นพี่ สู่รุ่นน้อง ของสมาคมศิษย์เก่าวิศวะจุฬาฯ

“จบแล้วจะทำงานอะไรดี?” เชื่อแน่ว่าคำถามนี้จะวนมาเข้ามาในหัวเรื่อยๆ สำหรับน้องๆ นักศึกษาที่ใกล้จบ หรือแม้แต่กระทั่งที่จบแล้วบางคนยังหาตัวตนของตัวเองไม่พบว่าแท้จริงแล้วอยากเดินในเส้นทางสายอาชีพไหนกันแน่

แต่สำหรับน้องๆ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกือบทุกคนรู้ถึงความต้องการของตนเอง พร้อมที่จะโบยบินออกจากรังด้วยความมั่นใจ ที่จะเผชิญกับโลกแห่งการทำงานในชีวิตจริง เพราะพวกเขาได้ติดอาวุธเสริมภูมิคุ้มกันให้กับตนเองแล้วจากรุ่นพี่ ที่พวกเขาเรียกว่า Mentor รุ่นพี่ศิษย์เก่าวิศวฯ ที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายสายงาน ผ่านโครงการ Champ Engineering ผลงานชิ้นโบว์แดงของสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


    นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายกฯ สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า Champ Engineering เป็นโครงการที่เราจัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับรุ่นน้องนิสิตปัจจุบันพร้อมเข้าสู่การทำงานจริงในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีความท้าทายรอบด้าน เพื่อช่วยอุตสาหกรรมไทย ตลาดแรงงานไทยและสังคมไทย โดยในโครงการจะมีศิษย์เก่าหรือรุ่นพี่ในฐานะผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง อย่างละ 1 คน ดูแลน้อง 4 คน เตรียมการให้เด็กรุ่นใหม่ให้นิสิตปีที่ 4 ที่จะจบออกไป พบกับสิ่งที่ท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ๆ  หรือรูปแบบการทำงาน ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต


ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 มีจำนวนเด็กที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีละ 72 คน รวมทั้งหมด 144 คน โดยมีรุ่นพี่ซึ่งทำหน้าที่ Mentor จำนวน 36 คนต่อปี ในหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน อุตสาหกรรม การสื่อสาร การเงินการธนาคาร รีเทล หรือแม้แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจ
“นิสิตเข้าร่วมโครงการ Champ Engineering พวกเขามีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีความมั่นใจมากขึ้น ขณะเดียวกันเหล่ารุ่นพี่ Mentor ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ให้แก่รุ่นน้อง พวกเขาก็ได้เรียนรู้จากรุ่นน้อง ได้มุมมองความคิดจากเด็กรุ่นใหม่ และได้ชี้แนะรุ่นน้องที่อาจจะมีความเสี่ยงเลือกเดินในเส้นทางที่ไม่ถูกต้องได้ ไม่ต้องใช้เวลาในการค้นหาตัวตน”

 

 

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กล่าวในฐานะ Mentor ในโครงการ Champ Engineering โดยตนได้เข้าร่วมในโครงการนี้ ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยปีนี้จะนำเสนอมุมมอง และสร้างตระหนักว่าเทคโนโลยีในอนาคตเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันเร็ว  มีการเกิดใหม่ และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องทำให้เด็กรุ่นใหม่มีทักษะ ไม่ยึดติดสิ่งที่เรียนรู้มาพร้อมที่จะปรับตัวได้เสมอ สิ่งเหล่านี้จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ  


 “เด็กรุ่นใหม่พวกเขาเป็นเด็กเก่ง มีความตั้งใจดี  และจะทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีความอดทนในการทำงาน เพียงแต่เขาไม่ได้มุมมองอย่างเด็กในอดีตที่ต่อให้ไม่ชอบงานเหล่านั้นก็ทนทำ แต่เด็กรุ่นใหม่ เขาจะทำในสิ่งที่ตนเองชอบ เราจึงได้นำเสนออีกมุมมองหนึ่งให้แก่พวกเขา เพราะสิ่งไม่ชอบในวันนี้  วันหน้าพวกเขาอาจจะชอบ โครงการนี้ทำให้ผู้ใหญ่กับเด็กได้แลกเปลี่ยน พูดคุย และยอมรับซึ่งกันและเป็น  เปิดกว้างมุมมองของทั้ง2 ฝ่าย ยิ่งในยุค Discription อุตสาหกรรม ทุกวงการมีการเปลี่ยนแปล ตลอดเวลา ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนมุมมองต่อเด็กรุ่นใหม่เหล่านั้น และร่วมสร้างวัฒนธรรมที่ดีเพื่อบ่มเพาะพวกเขา ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถมากขึ้น”


    เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เป็นการต่อยอดในเรื่องการสร้างคนคุณภาพเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือภาคธุรกิจไทย ซึ่งตอนนี้ยังขาดหัวจักรหรือผู้ชี้นำที่มีประสบการณ์ มานำพาเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ให้รู้ทิศทางที่จะขับเคลื่อนและใช้ความสามารถ ศักยภาพของตัวเองอย่างถูกด้าน ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวเองเท่านั้น ในภาพกว้างเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ถือเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่อไป