นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ากลุ่ม ปตท. จะยังคงลงทุนต่อเนื่อง แม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและประเทศไทยกำลังเผชิญกับโควิด-19 โดยได้ตั้งเป้าหมายเงินลงทุนของทั้งกลุ่มในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี2564-2568) จำนวน 865,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในจำนวนเงินลงทุนดังกล่าว ยังไม่ได้นับรวมโครงการอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุน เพราะในส่วนนี้จะต้องพิจารณา ปรับสัดส่วนการลงทุนตามกรอบวิสัยทัศน์ และให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต ให้สอดคล้องกับทิศทางอนาคตที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการวางแผนทำให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการกระจายก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ แอลเอ็นจี (แอลเอ็นจีฮับ) และก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ธุรกิจไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน
ขณะเดียวกัน ปตท. ยังได้ เตรียมการลงทุน เพื่อรองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตลอดจนเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพตามทิศทางโลก อาทิ มุ่งสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมัน และมุ่งขยายการค้าปลีกที่ ตอบโจทย์ผู้บริโภคในธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก รวมถึงขยายการลุงทุนในธุรกิจ วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science ) ธุรกิจยา (Nutrition) และอุปกรณ์การแพทย์โดยตั้งเป้าหมายดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้จากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนและทำงานวิจัยผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ปตท. ยังเตรียมงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อใช้กับการลงทุนที่อาจจะมีขึ้นในช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้าสำรองไว้ รอการลงทุนอีกก้อนหนึ่ง หากมีความจำเป็นและสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย แต่ยังไม่มีแผนลงทุนชัดเจนในขณะนี้ อีก 784,000 ล้านบาท โดยกลุ่ม ปตท. วางเป้าหมายทิศทางการดำเนินงาน ภายในปี 2574 ว่าจะเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูง และเร่งการลงทุนในกลุ่มพลังงานอนาคต และได้ตั้งเป้าหมายสัดส่วนกำไรจากกลุ่มธุรกิจพลังงานในอนาคตให้เป็น 30%ของผลกำไรรวมทั้งกลุ่ม ที่จะเป็นผลมาจากการลงทุน นำเข้าแอลเอ็นจี 9 ล้านตันต่อปี และเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจาก 8,000 เมกะวัตต์ เป็น 12,000 เมกะวัตต์
ขณะที่เงินลงทุนของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ได้ตั้งเป้าไว้ที่ 117,840 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม การค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลายในสัดส่วนที่มากที่สุด ทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า และการร่วมลงทุน รวมถึงพัฒนาพื้นที่อีอีซีไอ 26% รวม 30,743 ล้านบาท ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 29,847 ล้านบาท โครงการพีทีทีแอลเอ็นจี โครงการสถานีกักเก็บแอลเอ็นจี (หนองแฟบ) 24,042 ล้านบาท การร่วมทุนและการลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ทั้งธุรกิจไฟฟ้า และการลงทุนในปิโตรเลียมขั้นปลาย รวม 20,225 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 จำนวน12,983 ล้านบาท
ทั้งนี้ แผนการลงทุนใน 6 เดือนหลังของปีนี้ ปตท. จะยังเป็นไปตามแผน ขณะที่แนวโน้มการดำเนินงาน 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะสามารถทำผลประกอบการได้ใกล้เคียงกับครึ่งแรกของปีนี้ หากไม่มีเหตุการณ์อื่น ๆ มากระทบอย่างรุนแรง
”ผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปีนี้ของกลุ่ม ปตท. เปรียบเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า กลุ่ม ปตท. สามารถทำรายได้จากการขายจำนวน 1,011,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 186,201 ล้านบาท หรือ 23% จากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ โดยหลักๆ จากกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ทั้งจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการและราคาของ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากปีก่อน”
สำหรับผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBITDA) มีจำนวนจำนวน 216,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129,570 ล้านบาท หรือมากกว่า 100% ตามรายได้ที่ปรับเพิ่มขึ้น และธุรกิจการกลั่นที่มีกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในครึ่งแรกของปีนี้ ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น เทียบกับขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่ม ปตท. มีกำไร 6 เดือนแรกของปีนี้ 57,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46,667 ล้าน บาท หรือมากกว่า 100%