ส.อ.ท.ผนึกวิศวะจุฬาฯ ปรับทัพ 5 อุตสาหกรรมไทยสู่โมเดล ศก.บีซีจี ดันมูลค่าเพิ่มจีดีพีแตะ 4.4 ล้านล้าน

ส.อ.ท.ผนึกวิศวะจุฬาฯ ปรับทัพ 5 อุตสาหกรรมไทยสู่โมเดล ศก.บีซีจี ดันมูลค่าเพิ่มจีดีพีแตะ 4.4 ล้านล้าน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังลงนามความร่วมมือกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนว่าทั้ง 2 หน่วยงาน เตรียมนำร่องใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง, อาหาร, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ขับเคลื่อนสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่(บีซีจี) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นวาระแห่งชาติเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อทำให้โครงการดังกล่าว มีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมูลค่าของอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี ) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของจีดีพี ในปี 2569 -2570 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. จะเน้นการขับเคลื่อนบีซีจี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมนำร่อง 5 คลัสเตอร์ที่เป็นกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการทุกขนาดโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างทางเลือกแผนธุรกิจที่มีศักยภาพ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมและร่วมจัดทำคู่มือบทเรียนความสำเร็จ จาก 5 คลัสเตอร์ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอื่นๆ นำหลักการบีซีจี ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายรัฐบาลและโลกที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายจักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะส่งเสริมและสนับสนุนในด้านวิชาการ ทั้งในเชิงความรู้วิธีการวิจัยที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำโฟกัส กรุ๊ป และจัดทำไกด์ไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถนำแนวทางไปปรับใช้ และพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

นายสิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเน้นการศึกษาวิจัยบีซีจี โมเดล ทางวิชาการและสร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจบีซีจี นำไปสู่การปรับใช้ในทางธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง หลังจากที่ผลการศึกษาเสร็จสิ้น บพข. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการ ด้วยนโยบายการสนับสนุนทางการเงิน ภาษี การลงุทน กฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา และการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างประโยชน์จากผลการวิจัยโครงการฯ ให้เกิดขึ้นจริงกับธุรกิจ