ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมออกประกาศการเปิดให้ภาคเอกชน ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 23 บริเวณทะเลอ่าวไทย ในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ และรักษาระดับปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่ให้ลดลง โดยกรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดพื้นที่แหล่งปิโตรเลียม ระบบการบริหารจัดการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ จากนั้นจะใช้เวลา 1 ปี ในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การเปิดให้เอกชนเข้ามาศึกษาข้อมูลไปจนถึงประกาศผู้ชนะการประมูล
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถ ลงนามร่วมกับผู้ชนะการประมูลได้ในปี 2564 เพื่อก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท รวมถึงการต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท หากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน การสร้างรายได้ให้กับประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้ประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบัน กิจการผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย จากแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ที่ ประกอบด้วย แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน ดำเนินการโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีปริมาณ การผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,257 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คอนเดนเสท หรือก๊าซธรรมชาติเหลว อยู่ที่ 44,519 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ อยู่ที่ 27,324 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ (แปลงสำรวจหมายเลข 10 11 12 และ 13) จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 จากนั้นจะบริหารจัดการภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ชนะการประมูลเมื่อปี 2561