การกำจัดขยะยุค New Normal

หนึ่งในผลพวงของสถานการณ์โควิด19 คือปริมาณขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ อาทิ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องบรรจุอาหารชนิดบาง ถุงแกง ช้อนและส้อมพลาสติก หลอดพลาสติก ซองขนม บะหมี่สำเร็จรูป ถ้วยบรรจุอาหารที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีปริมาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ขีวิตในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal  ที่ผู้คน Work from Home (WFH) และนิยมสั่งสินค้าเดลิเวอรี่มากขึ้น โดยพฤติกรรมการใช้ชีวิตในรูปแบบNew Normal มีแนวโน้มจะต่อเนื่องถึงครึ่งปีหลัง ขณะที่หลายๆธุรกิจอาจให้ความสำคัญ WFHไปในระยะยาวโดยเฉพาะในธุรกิจนวัตกรรมบริการ ธุรกิจนวัตกรรมการสื่อสารรวมถึงสื่อและผู้พัฒนาระบบ ธุรกิจนวัตกรรมการเงินและการตลาด (Fin tech)เป็นต้น


จากปรากฏการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานครต้องให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

จับตาแผน“กำจัดขยะ”
แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ.2556-2575 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการกำจัดขยะ โดย กรุงเทพมหานครมีระบบการจัดการขยะที่แหล่งกำเนิดโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste Management) โดยนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และทำให้มูลฝอยเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล โดยมีเป้าหมายลดปริมาณขยะร้อยละ 20 จากปี 2556 รวมทั้งได้ตั้งเป้าหมายในการบริหารจัดการขยะ คือ การจัดการขยะที่ต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ  ด้วยการส่งเสริมการลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดและนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม


การจัดการขยะที่กลางทางอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นขยะทั่วไปมีการกำหนดจุดทิ้งขยะให้ชัดเจน กำหนดวันเวลาทิ้ง ติดตั้งป้ายประกาศแจ้งวันเวลาจัดเก็บให้ชัดเจนพร้อมคิวอาร์โค้ดติดต่อโดยตรงที่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ โดยมีแนวทางคือ ถนนสายหลัก สายรอง จัดเก็บทุกวัน ตรอก ซอย ชุมชน สำนักงานเขตกำหนดเวลาจัดเก็บ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ รวบรวมส่งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช สายไหม และหนองแขม สำหรับขยะประเภทอื่นๆ เช่น มูลฝอยชิ้นใหญ่ สำนักงานเขตออกประกาศนัดเข้าจัดเก็บทุกวันอาทิตย์ ฯลฯ
การจัดการขยะที่ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ


ขยะที่จัดเก็บจาก 50 เขตจะถูกขนส่งไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช สายไหมและหนองแขม โดยนำไปกำจัดด้วยวิธีต่างๆ  12 % ถูกกำจัดด้วยวิธีการหมักทำปุ๋ยที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและขยะมูลฝอย 5% กำจัดที่โรงกำจัดมูลฝอยผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาด 300-500 ตันต่อวัน ในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ส่วน 83% เป็นการจ้างเหมาเอกชนขนไปทำลายโดยวิธีฝังกลบอย่างสุขลักษณะในที่ดินของเอกชนที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา


ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่ม ขยะเป็น “พลังงานไฟฟ้า”
การกำจัดขยะด้วยเตาเผาความร้อนสูงเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็นวิธีหลักในการกำจัดขยะ เทียบกับวิธีกำจัดขยะแบบฝังกลบที่บางประเทศได้เลิกใช้อย่างสิ้นเชิง     การกำจัดขยะด้วยเตาเผาความร้อนสูงเป็นกระบวนการที่ได้รับการยอมรับทั้งด้านการทำลายขยะอย่างถูกวิธีและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมากในอันดับต้นๆ


    เทคโนโลยีการกำจัดขยะด้วยความร้อนสูงแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
1.เทคโนโลยีเตาความร้อนสูงมีแผงตะกรับ มีใช้กันแพร่หลายทั่วโลก มีหลักการทำงานที่สำคัญคือ ขยะมูลฝอยที่ป้อนเข้าไปในเตาความร้อนสูงจะเคลื่อนตัวไปตามการเคลื่อนที่ของแผงตะกรับ ทำให้ขยะเผาไหม้ได้หมดจด ใช้เชื้อเพลิงเสริมในช่วงเริ่มติดเครื่องเท่านั้น
2.เทคโนโลยีเตาเผาชนิดใส่ตัวกลางนำความร้อน (Fluidized Bed Incinerator) เป็นการเพิ่มความเร็วให้กับอากาศที่ใช้ในการเผาไหม้สูงพอที่จะทำให้ตัวขยะมูลฝอยเกิดการลอยตัว แล้วมีสภาพเหมือนของไหล ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้ ทำให้ขยะเผาไหม้ได้หมดจด
อย่างไรก็ดี การใช้ความร้อนสูงกำจัดโดยตรง ถือเป็นกรรมวิธีการกำจัดขยะที่สามารถลดปริมาณขยะลงได้ดีที่สุด กากของเสียที่เหลือจากกระบวนการในท้ายสุด สามารถนำมาทำถนนได้ เป็นต้น จึงเป็นการลดปริมาณขยะลงได้เกือบ 100% เลยทีเดียว เป็นเทคโนโลยีที่มีความสมบูรณ์ และมีอัตราการนำทรัพยากรกลับคืนสูงสุด


โรงกำจัดขยะด้วยเตาเผาความร้อนสูงในหลายประเทศจึงได้พัฒนาการควบคุมเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของสารพิษเป็นพิเศษโดยเฉพาะสารไดออกซิน ดังนี้
1.มีการออกแบบระบบการระบายน้ำในบ่อรับขยะที่เหมาะสม สามารถลดปริมาณน้ำในขยะได้อย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับค่าความร้อนขยะ
2.มีการควบคุมอุณหภูมิในเตาความร้อนสูงอย่างน้อย 850 องศาเซลเซียส อย่างสม่ำเสมอ
ทำให้สารไดออกซินตลอดจนก๊าซพิษอื่นๆสลายตัวไปโดยสิ้นเชิง
3.มีการควบคุมปริมาณลม อุณหภูมิ และตำแหน่งเป่าลมเข้าช่วยการเผาไหม้อย่างเหมาะสม ทำให้ขยะได้รับการเผาไหม้อย่างเต็มที่
4.มีการควบคุมระยะเวลาการเผาไหม้และความเร็วในการพลิกตัวของขยะในเตาความร้อนสูงอย่างเข้มงวด ทำให้ขยะเผาไหม้อย่างหมดจด โดยเถ้าหนักนี้จะเหลือสิ่งที่เผาไหม้ได้อีกในอัตราต่ำกว่า 3% ของน้ำหนักเถ้าทั้งหมด (control combustion residues loss on ignition less than 3%)


สำหรับประเทศไทยนั้น ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีโรงกำจัดมูลฝอยแบบเตาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า ขนาด 300-500 ตัน/วัน ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ดำเนินการโดยบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  มีประสิทธิภาพในการกำจัดขยะให้กทม.วันละ 500 ตัน และผลิตไฟฟ้า 9.8 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าบางส่วนจะใช้ภายในโรงงาน ส่วนที่เหลือจะส่งขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)


นอกจากนี้ กทม.ได้เปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดมูลฝอย โดยใช้เทคโนโลยีแบบเตาเผา โดยการแปรรูปมูลฝอยเพื่อนำพลังงานกลับมาใช้ประโยชน์ในการจัดการมูลฝอยของกทม.เพิ่มขึ้น โดยจะมีการก่อสร้างโรงกำจัดมูลฝอยผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อตัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ดำเนินการโดย บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด โครงการดังกล่าว ใช้เทคโนโลยีการจัดการมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะคือการอบแห้ง การเผาและมอดดับแล้ว ขยะมูลฝอยทุกประเภทที่ถูกเผาภายใต้อุณหภูมิสูงประมาณ 850 -1100 องศาเซลเซียส ควบคุมอัตโนมัติโดยระบบคอมพิวเตอร์ โดยสภาวะและระยะเวลาของการเผาไหม้ขยะมูลฝอยในเตาเผาสามารถตรวจสอบและปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของมวลขยะและเป็นการหลีกเลี่ยงความสูญเสียความร้อนซึ่งมีอุณหภูมิสูงในเตาเผาซึ่งสามารถนํามาเปลี่ยนสภาพเป็นไอร้อน เพื่อนําไปขับเคลื่อนเครื่องปั่นไฟฟ้าหรือผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เป็นการใช้ทรัพยากรขยะมูลฝอยที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ส่วนก๊าซที่ได้จากกระบวนการกําจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เตาเผาจะถูกบําบัด ด้วยอุปกรณ์บําบัดมลพิษทางอากาศรวมทั้งปูนขาว ผงถ่าน และสารอื่น ๆ เพื่อดูดซับมลสารทําให้อากาศที่ปล่อยออกมาได้มาตรฐาน ส่วนน้ำเสียที่ไหลมาจากการกองขยะจะได้รับการบําบัดโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อนํามาใช้หมุนเวียน ซึ่งทั้งหมดเป็นการแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด  สําหรับขยะมูลฝอย จากการกําจัดในเตาเผาจะเหลือน้ำหนักเพียงแค่ 15-20% ภายหลังจากการเผาซึ่งสามารถนําเถ้าที่เกิดขึ้นบางส่วนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย