กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. เผย 8 เดือนแรกไทยบริโภคเหล็กเพิ่ม 18.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดทั้งปีอยู่ที่ 18.9 ล้านตันโต 15% ตามทิศทางการใช้เหล็กของโลกหลังโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ขณะที่ราคาเหล็กตลาดโลกพ้นจุดสูงสุดแล้วคาดจะค่อยๆกลับสู่ภาวะปกติ
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น โดยสมาคมเหล็กโลก คาดการณ์ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป (Finished steel products) ของโลกมีแนวโน้มขยายตัว 5.8% จากปีที่ผ่านมาโดยมีปริมาณอยู่ที่ 1,874 ล้านตัน
"เนื่องจากโควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มที่ดีจากการฉีดวัคซีนป้องกันที่เริ่มได้ผล ขณะที่ราคาเหล็กตลาดโลก ได้ก้าวพ้นจุดต่ำสุดและมีสัญญาณการกลับมาสู่ภาวะปกติในเร็ว ๆ นี้แต่คาดว่าความต้องการบริโภคเหล็กทั่วโลกก็จะลดลง เพราะอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบหรือวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งประเทศจีนมีการควบคุมการผลิต และมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ผลผลิตเหล็กของจีนลดต่ำลง”
สำหรับประเทศไทยใน 8 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กทุกชนิดรวม 13 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดว่าความต้องการใช้เหล็กตลอดทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ 18.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% จากปี ที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 19% และผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น 10% แต่ทั้งนี้จากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่าปริมาณนำเข้าเหล็ก 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 23% ขณะที่กำลังการผลิตในประเทศก็เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับ่ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
"กลุ่มอุตสาหกรมเหล็กมองว่า ความต้องการบริโภคเหล็กในประเทศกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งมาจากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยการเร่งการฟื้นตัวโดยเฉพาะมาตรการรัฐที่สนับสนุนการใช้สินค้าในประเทศ คือนโยบาย “Made in Thailand” ซึ่ง ผมก็หวังว่าภาครัฐบาลควรจะพิจารณาการขยายขอบข่ายของมาตรการ ให้สามารถครอบคลุมงานโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) อีกด้วย”
นอกจากนี้ กรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับ ส.อ.ท. เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน และการใช้อัตรากำลังการผลิตต่ำ แนวทางปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อความยั่งยืน จึงเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศฟื้นตัว และสามารถใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้มากขึ้น