กนอ.เดินหน้านิคมฯ แห่งใหม่ที่ 61ของประเทศไทย มูลค่า ลงทุน 4,129 ล้านบาท

กนอ.เดินหน้านิคมฯ แห่งใหม่ที่ 61ของประเทศไทย  มูลค่า ลงทุน 4,129 ล้านบาท

 น.ส.สมจิณณ์  พิลึก  ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ พื้นที่ 1,900 ไร่มูลค่าลงทุน 4,129 ล้านบาทเพื่อ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย(เอส เคิร์ฟ) และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่(นิว เอส เคริฟ) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก ภายใต้มาตรการส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)


                  ”เมื่อลงนามแล้วเสร็จกนอ.และบริษัทสวนอุตสาหกรรมฯได้เตรียมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพื่อขอความเห็นขอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อน จึงเข้าสู่กระบวนการจัดสรรที่ดินและขออนุมัติแผนแม่บทต่อไปโดยมี กำหนดระยะเวลาพัฒนาโครงการ 3 ปี หลังได้รับการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมแล้ว จะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 คาดว่าจะมีเงินลงทุนในพื้นที่ 60,000 ล้านบาทและเกิดการจ้างงานใหม่รวม 15,000 คน”


                 สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กนอ.ตั้งเป้าว่าจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่มีอาทิ อุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรมเบาและอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องประดับ อุตสาหกรรมบริการ เช่น คลังสินค้า การวิจัยและพัฒนา และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในอีอีซี
 
              ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวตั้ง อยู่ในอ.หนองใหญ่ และอ.บ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 61ของประเทศไทย และเป็นนิคมอุตสาหกรรมล่าสุดที่จะเปิดให้บริการในพื้นที่อีอีซี


                นอกจากนี้ นิคมฯแห่งนี้ ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศรอบพื้นที่โครงการ และนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพและนำไปใช้ประโยชน์ภายในโครงการ เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ รวมทั้งได้นำแนวคิดออกแบบอาคารส่วนกลางแบบอารยสถาปัตย์ และออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อย  ก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานทดแทน เป็นทางเลือกเสริมพลังงานหลัก ช่วยลดปัญหามลพิษส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน