ลุ้น”กพอ.” 22 มิ.ย.เคาะผ่อนปรนเปิดทางนักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้าไทยหนุนอีอีซี

ลุ้น”กพอ.” 22 มิ.ย.เคาะผ่อนปรนเปิดทางนักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้าไทยหนุนอีอีซี

กบอ.เร่งเครื่องอีอีซีจ่อชง”กพอ.” 22 มิ.ย. ผ่อนปรนเปิดทางนักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้าไทยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี  พร้อมชู 5 คลัสเตอร์ ผลไม้ พืชชีวภาพ ประมง สมุนไพร พืชมูลค่าสูง ยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ ดึงเทคโนโลยียกระดับทุกขั้นตอน   


   นายคณิศ แสงสุพรรณ  เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 3/2563 ที่มี   นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า  กบอ.ได้พิจารณากลั่นกรองวาระต่างๆเพื่อที่จะนำเสนอต่อการประชุม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ซึ่งกบอ.รับทราบ   แนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี  ตามที่กลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่ อีอีซี จากประเทศญี่ปุ่น อาทิ หอการค้าประเทศญี่ปุ่น (Japanese Chamber of Commerce : JCC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ภาคธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิค เข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง


  ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและต่างประเทศปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนปรนในระยะต่างๆ ดังนั้น เพื่อรองรับบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่ อีอีซี ในช่วงระยะการฟื้นตัวของประเทศ สกพอ. จึงมีแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ สร้างภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทางกับสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ จัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly)


  รวมทั้งหารือกับกระทรวงสาธารณสุข พิจารณากำหนดประเทศต้นทาง และจำนวนบุคลากรที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศในแต่ละช่วงเวลา การกำหนดมาตรการกักกัน Flexible Alternative Quarantine ให้ผู้เดินทางเข้าประเทศสามารถทำภารกิจที่จำเป็นได้ และร่วมกันพิจารณาขึ้นทะเบียน สถานกักตัวทางเลือก Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่ อีอีซี ที่บุคลากรในโรงพยาบาลเอกชนสามารถสื่อสารภาษากับประเทศต้นทางได้ เพื่ออำนวยความสะดวกยิ่งขึ้น


  “ มีบุคลากรจำนวนมากที่ต้องการเข้ามาทำงานในโครงการลงทุนอีอีซี เขาก็ขอให้เราผ่อนปรนการเดินทางเข้ามา เขาพร้อมที่จะปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขเรา เช่น กักตัว 14 วัน แต่ขออยู่ในโรงแรมแถวสุขุมวิท และขอทำงานด้านเอกสารบ้าง ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆเขาพร้อมที่จะออกเองทั้งหมดซึ่งก็จะได้หารือในกพอ.เพื่ออนุมัติต่อไป”นายคณิศกล่าว


  นอกจากนี้ยังรับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ซึ่งได้แต่งตั้งคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สกพอ. เป็นเลขานุการร่วมเพื่อขับเคลื่อนแผนมุ่งเน้น 5 คลัสเตอร์พื้นฐานที่สามารถทำได้ทันที ได้แก่ 1.ผลไม้  2. พืชชีวภาพหรือ Bio-Based  3. ประมง 4. สมุนไพร และ 5. พืชมูลค่าสูง (เช่น ไม้ประดับ/ผักปลอดสารพิษ) โดยมีเป้าหมาย ยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ  


 “การพัฒนาพืชเกษตรจะมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แนวทางพัฒนาที่สำคัญคือมองความต้องการนำการผลิต อาทิ รองรับมหานครการบินภาคตะวันออก เมืองใหม่ และการท่องเที่ยว และความต้องการในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับยกระดับการตลาด-การแปรรูป-การเกษตร ด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน" นายคณิศกล่าว