กระทรวงอุตสาหกรรมอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ให้ยื่นคำขอเกี่ยวกับวัตถุอันตรายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

กระทรวงอุตสาหกรรมอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ให้ยื่นคำขอเกี่ยวกับวัตถุอันตรายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ. )ได้ออกประกาศกรอ.  เรื่อง การยื่นคำขอและการออกใบสำคัญเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่กรอ. เป็นผู้รับผิดชอบ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ในการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายจนกว่าไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลาย ซึ่งประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.เป็นต้นไป


ทั้งนี้ผู้ประกอบการ สามารถยื่นคำขอหรือใบแจ้ง เกี่ยวกับวัตถุอันตรายผ่านระบบการอนุญาตวัตถุอันตราย ณ จุดเดียว (ระบบ HSSS) ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกรอ. ได้ อาทิ คำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย (แบบ วอ./อก.1) , คำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย (แบบ วอ./อก.4), คำขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย (แบบ วอ.7), คำขอต่ออายุใบอนุญาต (แบบ วอ.9) โดยสามารถดูรายละเอียดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสมัครสมาชิกระบบการอนุญาตวัตถุอันตราย ณ จุดเดียว ผ่าน คู่มือการตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอ ได้ที่เว็บไซต์ กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย http://oaep.diw.go.th/haz/


 “มาตรการต่าง ๆ เป็นการเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการที่ยื่นเอกสารเท็จ เอกสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือดำเนินการโดยไม่มีอำนาจ กรอ.จะดำเนินคดีอาญากับบุคคลผู้ดำเนินการ หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนั้นทันที”
 
ขณะที่ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรอ. กล่าวว่า  ภาพรวมสถานการณ์วัตถุอันตรายระหว่าง 4เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.)  มีการขออนุญาตนำเข้า 1.24 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีการนำเข้า 1.26ล้านตัน หรือลดลง 1.53% และมีการส่งออก 805,432ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 779,287 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 3.35% สาเหตุที่มีการนำเข้าและส่งออกใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ปีนี้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาของไวรัสโควิด-19  อาจเกิดจากการตกลงซื้อขายไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19  ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสถานการณ์ดีหรือไม่อย่างไร อาจต้องมาวิเคราะห์ตัวเลขในไตรมาสต่อ ๆ ไปจึงจะสามารถระบุได้ชัดเจนขึ้น