นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากภาวะโรคระบาด โควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง มีการล็อคดาวน์ทั่วโลก การใช้น้ำมันดิบตลาดโลกลดลง 25-30 ล้านบาร์เรลต่อวันตน จึงให้ทุกบริษัทในกลุ่มปตท.ไปศึกษาการปรับตัวรับมือ และเสนอแผนกลับมาภายใน 1 เดือน จากเดิมที่จะมีการทบทวนแผนทุกๆกลางปี
ล่าสุดมาตรการกระยะสั้น ได้สั่งการให้ ทุกบริษัทตัดงบค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ยังไม่มีการลดเงินเดือนหรือลดจำนวนพนักงาน ส่วนงบลงทุน ระยะยาวยังเดินหน้าเช่นเดิม เช่น โครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project)ของ บริษัทไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) โครงการ Ultra Clean Fuel Project (UCF) หรือการรองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร5 ของ บริษัทไออาร์อีซีจำกัด(มหาชน) และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานที่มาบตาพุด (มาบตาพุดเรโทรฟิต) จังหวัดระยอง ของ บริษัทพีทีทีโกลบอลเคมิคอลจำกัด(มหาชน) เป็นต้น
สำหรับกรณีที่มีการใช้น้ำมันที่ลดลง โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน (เจ็ท) ในขณะนี้เพราะเจ็ทขายไม่ได้เนื่องจากธุรกิจการบินเชิงพาณิชย์หยุดไปทั่วโลก มีแต่ยังมีการบินเชิงความมั่นคงและมนุษยธรรม ทำให้มีเจ็ทเหลือค้างสตอก โรงกลั่นน้ำมันในกลุ่ม ปตท.จึงได้ปรับเปลี่ยนการผลิต จากที่มีกำลังกลั่นเจ็ท 12-15% ก็นำมาผลิตเป็นน้ำมันกลุ่มดีเซลทดแทน เนื่องจากการใช้ภาครถยนต์ แม้จะมีการล็อคดาวน์หลายพื้นที่ แต่การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงมีขนส่งต่อเนื่อง ยอดขายน้ำมัน ดีเซลจึงยังไม่กระทบมากนัก ในขณะที่กลุ่มเบนซินมียอดใช้ลดลงมา โดยโรงกลั่นน้ำมัน กลุ่ม ปตท.มีกำลังกลั่น ดีเซล 35-40% กลุ่มเบนซิน 15-20% และ เจ็ท 12-15%
นายชาญศิลป์กล่าวว่า ยอมรับว่า ไตรมาส 1ปีนี้ ผลประกอบการของ กลุ่ม ปตท.จะได้รับผลกระทบหนัก แต่มองว่า ภาวะการระบาดของโควิด-19 สุดท้ายแล้ววิทยาการทางการแพทย์จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ ซึ่งจะเห็นได้จากจีนเริ่มกลับมาเปิดเมืองในประเทศจีน เพื่อเริ่มเดินหน้าผลิตสินค้า หลายๆประเทศ เริ่มสตอกน้ำมัน ราคาปิโตรเคมีเริ่มขยับขึ้น รัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย มีการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คาดว่า ใน3-6 เดือนข้างหน้าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในระดับ 35-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากที่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงอยู่ที่ระดับ 24 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล