นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมขลประทาน ฝ่ายวิชาการ ได้นำคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี สำหรับพื้นที่ลำน้ำชีไหลผ่านหลายจังหวัด ความยาวประมาณ 830 กิโลเมตร โดยหลายพื้นที่ถูกระบุเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก ส่งผลให้ผลผลิตทางภาคการเกษตรตกต่ำ กระทบต่อเศรษฐกิจของภาคอีสาน นอกจากนี้แล้วในพื้นที่บางแห่งที่อยู่ติดลำน้ำชี ยังประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี และอาคารบังคับน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันบางช่วงมีระยะห่างค่อนข้างมาก ทำให้บางพื้นที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ
ซี่งทางกรมชลประทาน จึงได้เสนอแนวทางการปรับปรุงอาคารบังคับน้ำเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จำนวน 4 แห่ง คือ (1) ฝายบุตามี จ.ชัยภูมิ (2) ปตร.บ้านไร่ลำชี จ.ชัยภูมิ (3) ฝายกะฮาดน้อย จ.ชัยภูมิ และ (4) ฝายแก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา
นอกจากนั้น นอกจากนั้นในการพิจารณาของโครงการ กรมชลประทานยังได้เสนอให้มีการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม การจัดจราจรน้ำในช่วง ฤดูน้ำหลาก รวมทั้งยังเป็นการวางแผนการบรรเทาปัญหาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำตลอดสองฝั่งลำน้ำชี จำนวน 5 แห่ง คือ (1) ปตร.บ้านหนองคู อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ (2) ปตร.บ้านดอนหัน อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ (3) ปตร.บ้านโนนเขวา อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น (4) ปตร.บ้านท่าสวรรค์ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น และ (5) ปตร.ท่าสองคอน อ.มหาสารคาม จ.มหาสารคาม
โดยการศึกษาครั้งนี้ ได้คัดเลือกอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชีที่มีศักยภาพ จำนวน 3 แห่ง มาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือ (1) ปตร.บ้านโนนเขวา อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น (2) ปตร.บ้านท่าสวรรค์ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น และ (3) ปตร.ท่าสองคอน อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้
เมื่อกรมชลประทานดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงาน จะทำให้ลำน้ำชีสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 73.10 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ทำการเกษตรในฤดูแล้งได้ประมาณ 74,000 ไร่ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค บริโภค การประมง ปศุสัตว์และอื่นๆ ให้กับราษฎรในพื้นที่
อย่างไรก็ตามหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ลำน้ำชีแล้ว กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการศึกษาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ควบคู่กับการสำรวจและออกแบบเบื้องต้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยรวมทั้งความต้องการของประชาชนในพื้นที่และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน