กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจง กรณีผลิตหน้ากากผ้ายืนยันมีคุณภาพ ผ่านการตรวจรับรองมีผลห้องทดลองยืนยันใช้งานได้จริง ป้องกันละอองสารคัดหลั่งได้” ให้ประชาชนมั่นใจคุ้มค่างบประมาณ 67 ล้านบาท
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับ และบริหารโครงการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและป้องกันการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19เปิดเผยว่ากรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่ กระทรวงฯ ในฐานะหน่วยงานที่ จัดทำหน้ากากผ้า จำนวน 10 ล้านชิ้นมูลค่า 67 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ อาจมีความไม่โปร่งใสและคุณภาพของผ้าที่นำมาผลิตไม่ได้มาตรฐาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯขอยืนยันว่า ต้นทุนในการผลิตหน้ากากผ้า มีต้นทุนอยู่ที่ 6.08 บาทต่อชิ้น และค่าบริหารจัดการของไปรษณีย์ไทยแบบพัสดุอีเอ็มเอส 7 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองส่วนสูงกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
สำหรับต้นทุนในส่วนหน้ากากผ้า (ต่อชิ้น) ประกอบด้วย หมวดวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ต้นทุนผ้าที่เป็นไปคุณสมบัติตามเกณฑ์สถาบันสิ่งทอ พร้อมค่ายางยืดหู 2 ข้าง หมวดการผลิต ได้แก่ ค่าแรงตัด เย็บ หมวดบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ค่าซอง การพิมพ์และแพ็คสินค้า หมวดทดสอบ ได้แก่ ค่าตรวจสอบคุณสมบัติของผ้าก่อนผลิต ค่าตรวจสอบหน้ากากผ้าหลังผลิตเสร็จตามจำนวนล็อตที่มีการส่งมอบ และหมวดขนส่งถึงจุดที่กระทรวงฯกำหนด
ขณะเดียวกันใน เรื่องของคุณภาพมาตรฐานของหน้ากากผ้าทุกชิ้นได้ผ่านการตรวจรับรองการทดสอบคุณสมบัติ ทางกายภาพและคุณลักษณะด้านความปลอดภัยจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทั้งก่อนและหลังผลิตหน้ากากผ้า อาทิความ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ไม่มีลายพิมพ์ อ่อนนุ่มต่อผิวสัมผัส และไม่เกิดการระคายเคือง มีน้ำหนักต่อหน่วยพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 80 กรัมต่อตารางเมตร และไม่เกิน 220 กรัมต่อตารางเมตร (หากเกิน จะส่งผลให้หายใจได้ลำบาก) และผ่านการทดสอบคุณลักษณะด้านความปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้าง โดยการทดสอบสีเอโซ และปริมาณฟอร์แมลดีไฮด์ ซึ่งหน้ากากผ้าจะมีการตัดเย็บแบบ 2 ชั้น มีการทดสอบการผ่านได้ของอากาศ (Air Permeability) (ต้องไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อตารางเซนติเมตรต่อวินาที) และความหนาต้องไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร ซึ่ง สามารถใช้เพื่อป้องกันละอองสารคัดหลั่ง จากการไอหรือจาม (ขนาด 5 ไมครอน) และใช้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปได้