นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คนใหม่เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค.นี้ ว่า ทิศทางราคาค่าไฟฟ้างวดดังกล่าว ต้องติดตามสถานการณ์ต้นทุนราคาพลังงานอีกครั้ง หนึ่งโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในตลาดโลก ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทย รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ อาทิ ค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) จนสะท้อนต่อราคาค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่าย จากงวดปัจจุบัน(พ.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ดังนั้น กกพ.จะเร่งรวบรวมข้อมูลต้นทุนทุกด้านเพื่อคำนวณค่าเอฟทีและประกาศรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในเดือนก.ค.นี้
“ขณะนี้ราคาแอลเอ็นจีอยู่ระดับซอฟต์หรืออ่อนตัวลง คือ เฉลี่ย 12 เหรียญสหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนจะสามารถตรึงให้อยู่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วยจากที่จัดเก็บกับประชาชนในขณะนี้ หรือลดลงกว่านี้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ขอดูองค์ประกอบจากทุกส่วนก่อน สำหรับกรณีภาคเอกชนต้องการให้ค่าไฟฟ้าลดลงต่ำกว่านี้ ราคาปัจจุบัน อยากให้มองว่าประเทศไทยมีความมั่นคงไฟฟ้า เป็นไฟฟ้าคุณภาพ ขณะนี้เทรนด์ลงทุนทั่วโลกมองว่าไฟฟ้าควรมาจากการผลิตที่สะอาด เป็นไฟสะอาด เพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้”
นายพูลพัฒน์ กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าการจัดทำไฟฟ้าสีเขียว หรือ ยูทีจี พบว่า ขณะนี้ค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ซื้อที่ไม่เจาะจงโรงไฟฟ้า (ยูทีจี1) จะเป็นราคาค่าไฟฟ้าปกติ บวกค่า พรีเมียม 0.0594 บาทต่อหน่วย โดยไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประมาณ 1,300-3,500 กิกะวัตต์ต่อปี สัญญาปีต่อปี มีความชัดเจนแล้ว และรอจัดทำค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ซื้อที่เจาะจงโรงไฟฟ้า (ยูทีจี 2) แบ่งเป็น 2 ราคาตามโรงไฟฟ้าที่เข้าระบบ กลุ่ม A ราคา 4.5622 บาทต่อหน่วย และกลุ่ม B ราคา 4.5475 บาทต่อหน่วย สัญญา 10 ปี
ทั้งนี้ปริมาณไฟฟ้าที่จะมาจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว 4,852.26 เมกะวัตต์ ต้องรอความชัดเจนจากศาลปกครองหลังมีผู้ร้องกลุ่มไฟฟ้าจากพลังงานลม ซึ่งพบว่านักลงทุนทั่วโลกและนักลงทุนไทยต่างรอความชัดเจน โดยเฉพาะยูทีจี 2 ทั้งกลุ่มนักลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ อาทิแอมะซอน กูเกิ้ล ไมโครซอฟต์ และกลุ่มเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ สะท้อนว่ากลไกการค้าโลกกำลังมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งกกพ.จะเร่งดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน เป็นอีกกำลังสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้นักลงทุนต้องการความชัดเจนจากรัฐบาล ทั้งมาตรการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า(Direct PPA) หรือ ไดเรกต์ พีพีเอ หากอนุมัติเดินหน้ากกพ.ก็พร้อมสนับสนุนและดำเนินการ 2 ส่วนหลัก คือ Third Party Access คือเปิดให้มีการซื้อขายไฟผ่านโครงข่ายของรัฐ และการจัดทำอัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) ซึ่งทั้งหมดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของไทย
กกพ.ไม่ฟันธงค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค.นี้จะขึ้นหรือลง
